บัวลอย ของหวานที่เป็นของโปรดของใครหลายๆคน รวมทั้งเราและสามีด้วย แต่…ต้องทานกันอย่างระมัดระวังนะคะ เพราะมีทั้งแป้ง น้ำตาล กะทิ และไข่ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วนนั่นเองค่ะ (บัวลอยของเราก็คือ บัวลอยไข่หวาน ที่นำมาปรับปรุงสายพันธุ์อีกครั้งให้มีสีสันเพิ่มขึ้น หน้าตาน่ารับประทานมากขึ้น ก็เลยเป็นที่มาของชื่อบัวลอยสามสีค่ะ สีสวยและอร่อยด้วย ) สีสันแบบนี้ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้ดีทีเดียวค่ะ เป็นเมนูสนุกๆ ทำง่ายๆ เด็กๆ ช่วยทำได้ สนุกมือ แถมกินได้ด้วยนะคะ ไม่ใช่ปั้นกันเล่นๆ
เมนูอร่อยวันนี้หมูเหมือนเดิม แต่เสียเวลาในการทำนิดหน่อยค่ะ (ถ้าชวนคนในครอบครัวมาสนุกกัน มาช่วยกันทำ ทำไปคุยเล่นกันไปเผลอแผล็บเดียวก็เสร็จแล้วล่ะค่ะ) แต่รับรองว่า เมื่อได้ทานแล้วจะหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลยค่ะ (ขอเวอร์นิดๆ) ^^ พร้อมแล้วก็ตามไปดูวิธีทำบัวลอยไข่หวาน กันเลยค่ะ
วัตถุดิบ บัวลอยสามสี (บัวลอยไข่หวาน)
เผือกสดๆค่ะ (บัวลอยสีที่ 1) วิธีการเลือกเผือก เลือกผลที่หนักๆเอาไว้ค่ะ เพราะเนื้อที่ฝ่อทำให้ผลเผือกมีน้ำหนักเบา และผิวของเผือกไม่มีรอยช้ำ รอยบุ๋มหรือเน่าค่ะ
หั่นเผือกเป็นชิ้นเล็กๆเพื่อให้สุกง่ายและทั่วถึง
ฟักทอง (บัวลอยสีที่ 2) วิธีการเลือกก็คล้ายกับการเลือกเผือกค่ะ ถ้าซื้อทั้งลูก เช่น ฟักทองญี่ปุ่น ให้เลือกลูกที่มีน้ำหนักมาก ผิวเรียบเกลี้ยง ไม่มีรอยถูกแทะ ช้ำ หรือบุบ ถ้าเป็นฟักทองไทยๆ ซื้อเป็นชิ้นที่แม่ค้าแบ่งขายจะง่ายกว่าค่ะ ให้ดูที่สีของเนื้อฟักทอง ถ้ามีสีอมเขียวอมเหลือง มีเนื้อแป้งนวล คือฟักทองที่แก่จัด นำมาปรุงอาหารอะไรก็อร่อยค่ะ และเหมาะสำหรับขนมบัวลอยของเราในวันนี้ค่ะ จะได้มีสีเหลืองสดใสน่ากิน
หั่นฟักทองเป็นชิ้นเล็กก่อน เพื่อให้สุกง่ายเช่นกันค่ะ
เราจะนึ่งฟักทอง และเผือกกันก่อนค่ะ ใช้เวลาในการนึ่ง เมื่อน้ำเดือดแล้ว จับเวลาประมาณ 5 นาทีค่ะ ถ้าเราหั่นชิ้นใหญ่ก็จะใช้เวลานึ่งนานกว่านั้นค่ะ
ระหว่างรอฟักทองและเผือกคลายความร้อน เราก็มาเตรียมน้ำใบเตย (บัวลอยสีที่ 3)
ล้างใบเตยให้สะอาด โดยใช้นิ้วมือรูดทำความสะอาดตามความยาวใบเลยค่ะ จากนั้นหั่นเป็นชิ้นเล็กเพื่อนำไปปั่น เน้นว่าอย่าใส่น้ำลงไปมากนะคะ แต่ถ้าชอบสีอ่อนๆก็ใส่น้อยๆตามแต่ความชอบเลยค่ะ ส่วนเราชอบสีเข้มๆเพราะมันหอมใบเตยจริงๆ ^^
ปั่นจนละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำ จากนั้นนำไปกรองเอากากใบเตยออกให้เกลี้ยงค่ะ
บีบขยำให้น้ำออกมาให้หมดเลยค่ะ
วัตถุดิบทั้งหมดพร้อมแล้วค่ะ
ขั้นตอน/วิธีทำ บัวลอยสามสี
เริ่มลงมือกันเลยค่ะ นำเผือกที่นึ่งสุกแล้วมาบดให้ละเอียด แต่เราชอบแบบหยาบๆ เวลาเคี้ยวเจอเนื้อเผือกแล้วมันอร่อยมากเลยค่ะ
เมื่อละเอียดแล้ว ใส่แป้งข้าวเหนียวลงไปผสมค่ะ เน้นว่าค่อยๆใส่แป้งนะคะ (สำหรับคนที่ชอบเนื้อเผือกเยอะๆ) เพราะเผือกมีความชื้นอยู่เล็กน้อย ถ้าใส่มากไปเราต้องเพิ่มน้ำตามอีกค่ะ
นวดให้เข้ากันค่ะ ถ้าแห้งเกินไป นวดแล้วจะเป็นเม็ดๆ ก็ค่อยๆเติมน้ำลงไปแล้วนวดจนเหนียวค่ะ
เสร็จแล้วได้แบบนี้ค่ะ สังเกตว่าเนื้อแป้งของเรา จะมีเนื้อหยาบ เพราะเผือกเราบดไม่ละเอียด และเราใส่เนื้อเผือกเยอะค่ะ (ทำทานเองเอาให้อร่อยค่ะ ไม่ใส่สีและกลิ่น)
จากนั้นใครมีลูกมีหลาน ก็เอามาร่วมสนุกในขั้นตอนการปั้นนี้ได้เลยค่ะ
ต่อด้วยฟักทองค่ะ ฟักทองจะบดง่ายกว่าเผือกค่ะ เพราะในเนื้อฟักทองนึ่งมีน้ำอยู่มาก
จากนั้นนำมานวดกับแป้งข้าวเหนียว และเหมือนเดิมค่ะ ให้ค่อยๆใส่แป้งค่ะ
นวดจนได้ที่จะได้แบบนี้ค่ะ
และนำมาเป็นลูกๆเล็กๆเหมือนกันกับเผือกเลยค่ะ
สุดท้าย น้ำใบเตยสีเขียวของเราค่ะ
นวดให้เข้ากัน
จนได้แบบนี้ สังเกตว่า น้ำใบเตยเข้มข้นของเรา นวดออกมาแล้วสีอ่อนจัง แต่พอสุกแล้วก็สวยสุดๆเลยค่ะ
จากนั้นก็หน้าที่ลูกหลานค่ะ เทคนิคในการปั้น (ทำไมเพิ่งจะมาบอกเนี่ย??) ^^ ปั้นเป็นแท่งยาวๆ แล้วบิออกมาเป็นส่วนๆ แล้วคลึงให้กลมค่ะ
เสร็จแล้วค่ะ
จากนั้นเราจะเอาบัวลอยที่เราปั้นเสร็จแล้ว ผึ่งลมไว้ก่อนนะคะ เพื่อเพิ่มความเหนียวค่ะ ส่วนใครที่ปั้นออกมาแล้วเหลวเกินไป นำเข้าตู้เย็นหรือผึ่งลมให้แห้งนานอีกหน่อยค่ะ
และใครที่ปั้นออกมาแล้วเยอะเกิน ทานไม่หมดแน่ๆ แบ่งเก็บใส่กล่องปิดฝาให้เรียบร้อย อยู่ได้ 3 วันเลยค่ะ ลองเก็บมาแล้ว (ถ้าใครลองเก็บได้นานกว่านี้บอกกันด้วยนะคะ ^^)
จากนั้นตั้งหม้อใส่น้ำและน้ำตาลนะคะ เราจะทำไข่หวานกันก่อน ทานกี่คนกี่ฟองก็ทำตอนนี้เลยค่ะ อ้อ ถ้าหากเราใช้น้ำตาลทรายไม่ฟอกสี ที่สีออกสีน้ำตาลอ่อน ไข่หวานของเราจะสีออกแดงๆ ไม่สวยแต่ดีต่อสุขภาพกว่าค่ะ แต่ถ้าเราใช้น้ำตาลทรายขาวล่ะก็ ไข่หวานที่ได้หน้าตาสวยเลยล่ะค่ะ (สำหรับคนที่อยากทำขายควรเลือกน้ำตาลทรายขาว) และวันนี้เราเลือกที่ความสวยค่ะ ^^
เมื่อน้ำเดือดแล้ว น้ำตาลละลายหมดแล้วให้หรี่ไฟอ่อนไว้ค่ะ แล้วค่อยใส่ไข่ลงไป
ชอบสุกดิบแค่ไหนตามความชอบเลยค่ะ ส่วนไข่เค็มเราใช้ไข่เค็มดิบ แยกเอาแต่ไข่แดง ไปลวกน้ำร้อนค่ะ (ขออภัยไม่มีภาพ)
และนี่คือไข่หวานจากน้ำตาลทรายไม่ฟอกสีค่ะ ถ้าเราทำน้ำกะทิสีเขียวโดยใส่น้ำใบเตยลงไปด้วย เราใช้น้ำตาลธรรมชาติได้เลยค่ะ ไม่ต้องกลัวน้ำกะทิสีไม่สวย เพราะสีเขียวข่มหมดเลยค่ะ
จากนั้นน้ำเชื่อมที่เราต้มไข่หวานก็ใส่หางกะทิ หรือน้ำเปล่าค่ะ (ที่ใส่น้ำเปล่าเพราะบางครั้งเราซื้อกะทิแบบคั้นแห้ง เราไม่มีหางกะทิ ก็ต้มน้ำเปล่าไปก่อนค่ะ พอทุกอย่างสุกหมดแล้ว เราก็ใส่หัวกะทิเป็นขั้นตอนสุดท้าย)
ใส่เกลือป่นเล็กน้อย เพื่อให้รสชาติหวานแหลมค่ะ จัดการชิมรสชาติให้ได้ที่นะคะ เอาให้รสจัดไว้นิดหน่อย เพราะเราจะใส่หัวกะทิอีกค่ะ
เมื่อน้ำเดือด ตามด้วยบัวที่ยังไม่ลอยค่ะ
และเมื่อบัวจมสุก มันก็จะลอยขึ้นมาเป็นบัวลอยค่ะ
กลายเป็นบัวลอยหมดแล้วค่ะ
จากนั้นตามด้วยหัวกะทิ ซึ่งหัวกะทิที่เราใช้นั้น เป็นกระทิข้นๆ ที่ใช้สำหรับทำขนมจริงๆ ค่ะ เพราะตอนซื้อจะสั่งค่ะว่าคั้นแห้ง
เมื่อเทหัวกะทิแล้ว ให้คนให้เข้ากัน และไม่ต้องรอให้น้ำเดือดพล่านนะคะ แค่มีฟองปุดๆ ก็พอแล้วค่ะ เดี๋ยวกะทิจะแตกมันทานไม่อร่อยค่ะ
คนให้เข้ากัน ถ้ามีน้ำใบเตยเหลือ เอามาใส่เพิ่ม ก่อนที่จะใส่หัวกะทิค่ะ เราจะได้น้ำสีเขียวอ่อนๆ หอมใบเตยยิ่งขึ้นอีก
จากนั้นปิดไฟ ตักเสิร์ฟได้เลยค่ะ
บัวลอยสามสีไข่เค็ม
ซูมให้น้ำลาย(คนโพสต์)ไหล
ซูมอีก
บัวลอยสามสีกับสองไข่เสร็จพร้อมรับประทานแล้วค่ะ โพสต์เสร็จอยากไปทำทานอีกรอบ ^^
ส่วนใครที่อยากทำสีอื่นๆนอกจากสีเหล่านี้ สามารถทำได้ค่ะ เช่น สีน้ำเงินจากอัญชัน แต่ถ้าอยากได้สีม่วงแค่บีบน้ำมะนาวลงไปนิดนึง พอให้สีเปลี่ยนก็ได้สีม่วงแล้วค่ะ หรือชอบสีแดงก็ใช้ดอกกระเจี๊ยบแดงค่ะ เป็นกระเจี๊ยบสดยิ่งดีเลยค่ะ ถ้าชอบสีชมพูก็ใส่น้ำกระเจี๊ยบน้อยใส่น้ำเปล่ามากๆ หรือสีส้มจากแครอทก็ได้ค่ะ
เมนูวันนี้เป็นเมนูสนุกสนาน และสร้างสรรค์ เหมาะเป็นเมนูเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวอีกเมนูหนึ่งเลยนะคะ อย่าให้ลูกหลานเราเล่นแต่อินเตอร์เน็ต เฟสบุค หรือดูแต่ทีวี หากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้มาสร้างความอบอุ่นในครอบครัวกันดีกว่าค่ะ แล้วคอยติดตามพบกับเมนูอร่อยๆ กับครัวหมูหมูต่อไปนะคะ
ขอบคุณมากเลยค่ะวันที่25ตุลาคมนี้จะทำไปโรงทานที่วัดค่ะงานทอดกฐินค่ะ
ขอบคุณเช่นกันค่ะที่เข้ามาชม ว่าแต่ทำไปวัดไหนคะ อยากไปทาน ^^